Home : Green Story : Health

โรคกรดไหลย้อน โรคยอดฮิตของสาวออฟฟิศ

ญาดาเป็นหญิงสาววัยทำงาน ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบสูง ชีวิตของเธอแต่ละวันมักทุ่มเทเวลาให้กับงานเป็นส่วนใหญ่ จนบ่อยครั้งถึงกับลืมเรื่องอาหารการกินไปเลยทีเดียว มาในระยะหลังเธอมักบ่นว่า “หมู่นี้ดาเป็นอะไรก็ไม่รู้ รู้สึกเรอเปรี้ยว ปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่...ลามมาถึงคอ” ฉันได้ยินก็อดห่วงไม่ได้กลัวว่าจะเป็นอะไรมากไปกว่านี้ จึงพาเธอไปพบแพทย์ ที่สุดญาดารู้ว่าตนเป็น “โรคกรดไหลย้อน” คำถามแรกของเธอคือ “จะทำอย่างไรดีคะหมอ” และนี่คือคำถามที่มีคำตอบให้ในบรรทัดถัดไปค่ะ



รู้จักโรคกรดไหลย้อน

“โรคกรดไหลย้อน” หรือ Gastroesophageal Reflux Disease (GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร   โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้

 “เนื่องจากโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้าย ๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร จึงทำให้คนส่วนใหญ่มักจะเหมารวมว่าตนเองอาจจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาลดกรด (antacids)  ที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาดมารับประทาน ซึ่งยาประเภทนี้มีประสิทธิภาพไม่สูงพอที่จะรักษา  ทำให้การรักษาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะคนไทยเรามักจะชอบซื้อยามารับประทานเองและคิดว่าการไปพบแพทย์เป็นเรื่องใหญ่  ระยะหลังมานี้จึงพบโรคกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ “


 ประเภทของโรคกรดไหลย้อน

1. โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หรือ CLASSIC GERD ซึ่งกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไหลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น

2.โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal Reflux: LPR) หมายถึงโรคที่มีอาการทางคอและกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาเหนือกล้าม เนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของคอและกล่องเสียง จากการระคายเคืองของกรด


ดังนั้นเมื่อท่านมีอาการดังต่อไปนี้ อาจบ่งบอกถึงการมีโรคกรดไหลย้อน ควรมารับการรักษาโดยแพทย์

1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร

- อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้ (พบน้อย)
- รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ หรือแน่นคอ
- กลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรือกลืนติดๆ ขัดๆ คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ
- เจ็บคอ แสบคอหรือปาก หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า
- รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก (bile or acid regurgitation)
- มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา
- เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหาร หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก หรือคอ
- รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia)
- มีน้ำลายมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้


2. อาการทางกล่องเสียง และหลอดลม


- เสียงแหบเรื้อรัง หรือ แหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม
-ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน
-ไอ หรือ รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน
- กระแอมไอบ่อย
- อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ (ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา
- เจ็บหน้าอก (non – cardiac chest pain)
- เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ


3. อาการทางจมูก และหู


- คัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีน้ำมูก หรือเสมหะไหลลงคอ
- หูอื้อเป็นๆ หายๆ หรือปวดหู


เมื่อ แพทย์สงสัยว่าท่านอาจมีโรคกรดไหลย้อน  นอกเหนือจากการซักประวัติแล้ว แพทย์จะตรวจร่างกายทางหู คอ จมูก และบริเวณท้องอย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคกรดไหลย้อน และแพทย์อาจ

1. ทดลองให้ยาลดกรดชนิด proton pump inhibitor (PPI) ขนาดสูง (PPI Test) เช่น omeprazole (miracid®), esomeprazole (nexium®), rabeprazole (pariet®), lansoprazole (prevacid®) เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ แล้วสอบถามอาการหลักที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ หรืออาการที่ทำให้ผู้ป่วยรำคาญที่สุด  ถ้าอาการดังกล่าว ดีขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 อาจแสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน

2. ส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร  กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น (Esophago-Gastro-Duodenoscopy)  อาจเห็นการอักเสบอย่างรุนแรง และแผลในหลอดอาหารส่วนปลายเหนือกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากโรคกรดไหลย้อน

3. ส่งตรวจวัดค่าความเป็นกรด ด่าง (pH) ในหลอดอาหารและคอหอยส่วนล่าง (Ambulatory 24-Hour Double–Probe pH Monitoring) วิธีนี้ถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนโดยตัววัดค่าความเป็นกรด ด่าง ของคอหอยส่วนล่าง มักจะวางอยู่เหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนประมาณ 2 เซนติเมตร (pharyngeal probe)  ส่วนตัววัดค่าความเป็นกรด ด่างในหลอดอาหารจะวางอยู่เหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างประมาณ 5 เซนติเมตร (esophageal probe)  เมื่อค่าความเป็นกรด ด่าง ของ pharyngeal probe ต่ำกว่า 5 และค่าความเป็นกรด ด่าง จาก esophageal probe ต่ำกว่า 4  ระหว่างหรือในขณะที่มีกรดไหลย้อนขึ้นมาจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วน ล่าง และระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของค่าความเป็นกรด ด่าง ดังกล่าว นานกว่าปกติ อาจบ่งบอกว่ามีโรคกรดไหลย้อน อย่างไรก็ตาม การตรวจวิธีนี้เป็นการตรวจที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกทรมาน หรือรำคาญ และต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง




ต้นเหตุของปัญหา

โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การคลายตัวของหลอดอาหารส่วนปลายโดยที่ไม่มีการกลืน พบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีจำนวนครั้งของภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าในคนปกติ ซึ่งสาเหตุนี้ถือเป็นภาวะสำคัญของโรค นอกจากนี้ยังเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ  ได้แก่

             • ความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าในคนปกติ หรือเกิดมีการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารมากขึ้น

              • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร

              •  เชื้อแบคทีเรียบางชนิดหรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน

โรค นี้มีความสำคัญ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการแสบยอดอกและ/หรือร่วมกับมีภาวะเรอเปรี้ยว  คือมีกรด ซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือปาก  และจะเป็นมากขึ้นหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก  การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย ภาวะนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบหรือเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรง ถึงกับทำให้ปลายหลอดอาหารตีบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุ หลอดอาหารได้ บางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้   ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยอาการทางด้านของโรคหู คอ จมูก อาทิ ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง หรือหอบหืด  เจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ หรือมีกลิ่นปาก เป็นต้น

 

พบได้ในเด็กหรือไม่

โรคนี้ สามารถพบได้ตั้งแต่ทารกจนถึงเด็กโต ในเด็กเล็กอาการที่ควรนึกถึง ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย  ไอเรื้อรัง  หอบหืด  ปอดอักเสบเรื้อรัง  ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้

 

วินิจฉัยอย่างไร


             โดยปกติแพทย์สามารถวินิจฉัยจากอาการดังที่กล่าวมา โดยผู้ป่วยที่มีอาการทั้งแสบยอดอกและ/หรือเรอเปรี้ยว (ทั้งนี้ไม่ควรมีอาการที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นโรคอื่น อาทิ น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้)  แพทย์สามารถวินิจฉัยได้เลยว่า ผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนและให้การรักษาเบื้องต้นได้ทันที  โดยจะติดตามดูอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจค้นพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร  กลืนแป้ง หรือตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร ซึ่งพบว่าได้ผลแม่นยำดีที่สุดในปัจจุบัน

 



จะดำเนินชีวิตอย่างไรถ้าเป็น


โดย ทั่วไปเป้าหมายของการรักษา  แพทย์จะมุ่งเน้นให้อาการของผู้ป่วยดีขี้น รักษาอาการอักเสบของแผลในหลอดอาหารและป้องกันผลแทรกซ้อน  การรักษามีตั้งแต่  การเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การให้ยา การส่องกล้องรักษาและการผ่าตัด  ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ตั้งแต่

• หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา

• หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง  ช็อกโกแลต

• ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป

    •  ระวังไม่ควรรับประทานอาหารในแต่ละมื้อมากเกินไป  โดยเฉพาะมื้อเย็น    ควรรับประทาน

        อาหารและไม่ควรนอนทันทีหลังจากนั้น 3 ชั่วโมง

     •  นอนตะแคงซ้าย  เนื่องจากการนอนตะแคงซ้ายทำให้หูรูดมีจำนวนครั้งของการคลายตัว 

                 น้อยลงและนอนหนุนหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว

              •  ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดเกินไป

  •  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

ทำตัวใหม่แล้วอาการไม่ดีขึ้น  ควรทำอย่างไรต่อ

             ถ้าการดำเนินชีวิตเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย

             ปัจจุบันยาที่ได้ผลดีที่สุด  คือ ยาลดกรดในกลุ่ม Proton pump inhibitors   ยาประเภทนี้มีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการเกิดอาการปวดแสบร้อนบริเวณ หน้าอก และมีประสิทธิภาพสูงมากในการสมานแผลของหลอดอาหาร โดยที่แพทย์จะให้รับประทานยาในกลุ่มนี้เป็นเวลา 6 - 8 สัปดาห์  บางรายที่เป็นมาก อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี  ซึ่งอาจจะมีการปรับการรับประทานยาเป็นแบบช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือไม่กี่วันตามอาการที่มี  หรือรับประทานติดต่อกันตลอดเป็นเวลานาน

          อย่างไรก็ตาม การใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์   ในรายที่รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาการรักษาด้วยการส่องกล้อง หรือผ่าตัด

โรคกรดไหลย้อน  แม้ว่าจะไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต  แต่เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานลดลง ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังถูก "โรคกรดไหลย้อน" คุกคาม ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและ รักษาต่อไป เพราะหากละเลยไม่ยอมรักษานานๆ ไปอาจทำให้เรื้อรังกลายเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้เช่นกัน

  สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถค้นหาโรคกรดไหลย้อนได้ที่ www.gerdthai.com

 ผศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล




Latest stories

ข้อมูลบริการ

GreenShopCafe.com ร้านสินค้าสุขภาพออนไลน์ ภายใต้แนวคิด "สินค้าสุขภาพ ออร์แกนิค ธรรมชาติ ปลอดเคมีอันตราย นวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"

จากแบรนด์ดีๆ มากมายหลายหลาก เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่ใส่ใจและเลือกสรรแต่สิ่งดีมีคุณภาพสำหรับตัวเองและครอบครัว

จ่ายผ่านบัตรบนระบบของ KTC ปลอดภัย 100%

GreenShopCafe ใช้ระบบตัดบัตรเครดิต KTC PayGate ของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยระดับสากล การระบุข้อมูลบัตรที่จะกระทำบนระบบเซอร์เวอร์ของ KTC PayGate จึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยสูงสุด และ GreenShopCafe ไม่เก็บเลขบัตรและข้อมูลบัตรเครดิตลูกค้าทั้งสิ้น

Credit Card Accept & Payment Gateway support by KTC PCL
© กรีนช็อปคาเฟ่ GreenShopCafe.com สงวนลิขสิทธิ์